ส่วนที่ 1
สภาพทั่วไปและข้อมูลพื้นฐาน
ด้านกายภาพ
ที่ตั้งของหมู่บ้าน/ชุมชน/ตำบล
ตำบลแม่แรม ตั้งอยู่บริเวณตอนกลางของอำเภอแม่ริม อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอแม่ริม ประมาณ 4 กิโลเมตร ห่างจากศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ประมาณ 14 กิโลเมตร ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 107 มีอาณาเขต ดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อ ตำบลห้วยทราย และตำบลสะลวง
ทิศใต้ ติดต่อ ตำบลแม่สา ตำบลโป่งแยง และอำเภอหางดง
ทิศตะวันออก ติดต่อ เทศบาลตำบลริมใต้ และตำบลริมเหนือ
ทิศตะวันตก ติดต่อ อำเภอสะเมิง และตำบลโป่งแยง
ลักษณะภูมิประเทศ
ตำบลแม่แรม มีพื้นที่เนินเขา สูง ๆ ต่ำ ๆ จนถึงลอนลูกคลื่น พื้นที่ประมาณร้อยละ 5 อยู่ในความสูงต่ำกว่า 350 เมตร จากระดับน้ำทะเล บริเวณสูงสุดของอำเภอแม่ริม คือดอยคว่ำล่อง สูงจากระดับน้ำทะเล 1,685 เมตร ทางด้านตะวันตกของตำบลเป็นพื้นที่ภูเขา ทางด้านตะวันออกจะเป็น พื้นราบ เหมาะสมสำหรับการทำการเกษตร และเป็นที่อยู่อาศัย ตำบลแม่แรม มีเนื้อที่ประมาณ 110.50 ตารางกิโลเมตร หรือ 69,062.50 ไร่
ลักษณะภูมิอากาศ
ตำบลแม่แรมมีพื้นที่ที่เป็นภูเขา และมีป่าไม้ค่อนข้างมาก ทำให้อากาศเย็นสบายเกือบตลอดทั้งปี มีอุณหภูมิเฉลี่ย23.80องศาเซลเซียสความชื้นสัมพัทธ์ เฉลี่ยตลอดปี 66 %มีปริมาณน้ำฝนรวมตลอดปี1,145.7 มิลลิเมตร โดยมีปริมาณน้ำฝนสูงสุดในเดือนสิงหาคมประมาณ 223.2 มิลลิเมตร และต่ำสุดในเดือนมกราคมประมาณ 7.7 มิลลิเมตร
ลักษณะของดิน
ดินบริเวณลุ่มน้ำแม่สาประกอบด้วยดินที่อยู่ในพื้นที่ลาดชันมีลักษณะเป็นลอนคลื่นและลาดชัน ในหุบและร่องห้วย เป็นดินร่วนปนทรายสีเทา มีคุณสมบัติอุ้มน้ำและซับน้ำดี บริเวณยอดเขาที่ประกอบไปด้วยป่าดิบเขา พบว่าดินที่สูงจัดอยู่ในชุดดินดอยปุย เป็นดินพวกReddishBrownLatteritic Soils หรือ Palehumults ดินเป็นกรดปานกลาง มีเปอร์เซ็นต์ของอินทรียวัตถุสูง มีฟอสฟอรัสและโพแทสเซียมที่นำไปใช้ประโยชน์ได้ต่ำ การเกาะยึดเม็ดดินค่อนข้างต่ำ โครงสร้างของดินส่วนใหญ่เป็นแบบกล่องถึงเหลี่ยม ขนาดของเม็ดดินปานกลาง ซึ่งเป็นดินที่ง่ายต่อการพังทลายโดยมีค่าดัชนีความยากง่ายในการถูกชะล้างพังทลายของดินที่เกิดจากพลังงานฝน (K, Soil erodibility factor) ในสมการสูญเสียดินสากลที่ประเมินจากพลังงานฝนผนวกกับน้ำไหลบ่าหน้าดินเท่ากับ 0.19 ความลึกตั้งแต่ 100-240 เซนติเมตร บริเวณไหลเขาต่ำลงมาเป็นดินส่วนใหญ่เป็นดินลูกรัง สีน้ำตาลปนแดง มีความอุดมบูรณ์ของดินต่ำ พบว่าเป็นดินที่มีการพังทลายปานกลางโดยมีค่าดัชนีความยากง่ายในการถูกชะล้างพังทลายของดินที่เกิดจากพลังงานฝน (K, Soil erodibility factor) ในสมการสูญเสียดินสากลที่ประเมินจากพลังงานฝนผนวกกับน้ำไหลบ่าหน้าดินเท่ากับ 0.05-0.20 ส่วนดินบริเวณที่ราบเป็นดินชุดแม่ริมมีความอุดมสมบูรณ์ของดินมาก แต่มีกรวดทรายมากบนผิวดิน ซึ่งเป็นส่วนที่เกิดจากการไหลชะของน้ำอย่างรุนแรง(ศูนย์วิจัยต้นน้ำภาคเหนือ, 2547)
ลักษณะของแหล่งน้ำ
แหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญ ได้แก่ ห้วยแม่สา ห้วยแม่ลวด ห้วยเหมืองเจ้าพ่อ ลำน้ำแม่แรม ลำน้ำห้วยหลวง ลำน้ำจอยวอย ลำน้ำห้วยเขียด และลำห้วยหก
ลักษณะของป่าไม้
1) ป่าดิบเขา เป็นป่าต้นน้ำที่สำคัญของลุ่มน้ำแม่สา ส่วนใหญ่อยู่บริเวณอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ – ปุย พบพันธุ์พืช 112 ชนิด สภาพป่ามีชั้นเรือนยอดหลายชั้น และค่อนข้างแน่นทึบ ประกอบด้วยพันธุ์ไม้หลากหลายชนิด เช่น ก่อแป้น ก่อเดือย ทะโล้ เหมือดดอย ต้างหลวง กำยาน มะดูก และไม้พื้นล่าง เช่น หญ้ายุงอัคคีทวาร หญ้าคายหลวงกล้วยเครือคำ ว่านขมิ้นเอื้องหมายนา
2) ป่าเบญจพรรณพบบริเวณตอนกลางของพื้นที่ลุ่มน้ำโดยเฉพาะในบริเวณที่มีความชื้นมากพบพันธุ์พืช 76 ชนิด ชั้นเรือนยอดโปร่งไม้ชั้นบน เช่น สัก ตะแบก ประดู่ กาสามปีก ตีนนก ยอป่า ติ้วขน เก็ดดำปอกุ่ม ตะคร้อ เป็นต้น ส่วนไม้พื้นล่างและหญ้านั้นมีจำนวนมาก เช่น ไมยราบลูกใต้ใบ ขยุ้มตีนหมา น้ำนมราชสีห์ หญ้าเขมรเล็ก หญ้าหงอนไก่ ผักกระสัง ว่านหัวครัว และเฟิร์นชนิดต่าง ๆ
3) ป่าเต็งรัง เป็นป่าที่อยู่ตอนล่างของพื้นที่ พบพันธุ์พืช69 ชนิดมีพันธุ์ไม้ที่เป็นองค์ประกอบหลักคือ เต็ง รัง เหียง พลวงโดยทั่วไปเป็นป่าที่มีความแห้งแล้ง โปร่ง มีเรือนยอดเพียงชั้นเดียวไม้ยืนต้นหรือไม้พุ่มที่พบ เช่น พะยอม ประดู่แดง หนามแท่ง มะติ่ง กระบก ตีนนก มะเกิ้ม ปอกุ่ม ส้านหลวง
4) สวนสน สวนป่าสนปลูกสร้างเพื่อทดแทนป่าต้นน้ำที่ถูกทำลายโดยพบพืชอื่นที่ขึ้นปะปนจำนวน 140 ชนิดได้แก่ ทะโล้ ก่อชนิดต่างๆ เช่น ก่อแป้น ก่อเดือย เหมือดดอย ต้างหลวง กำยาน มะเม่าสาย รักขี้หมู ปอหูช้าง และมะห้า และไม้พื้นล่าง เช่น หญ้ายุง อัคคีทวาร หญ้าคายหลวง กล้วยเครือคำ ว่านขมิ้น เขืองแข้งม้า ผักปลาบ กากุ๊ก หญ้าหวาย หญ้าสามคม ขิงดา และเฟิร์นชนิดต่าง ๆ
5) สวนลิ้นจี่ การปลูกลิ้นจี่มีมากบริเวณบ้านแม่แมะพบพันธุ์พืช 64 ชนิดเกษตรกรไม่นิยมเก็บต้นไม้ใหญ่ไว้ในสวน เนื่องจากลิ้นจี่นั้นเป็นพันธุ์ไม้ใหญ่ และไม่ต้องการร่มเงา
6) สวนผัก การปลูกผักพบมากบริเวณบ้านหนองหอย พบพันธุ์พืช50 ชนิด เช่น ผักกาดขาวปลี ผักกาดเขียวปลี กะหล่ำปลี มะเขือเครือ และแตงกะเหรี่ยง
ด้านการเมือง/การปกครอง
เขตการปกครอง
ตำบลแม่แรมมีหมู่บ้านอยู่ในเขตการปกครองของเทศบาลตำบลแม่แรม จำนวน12 หมู่บ้าน เป็นประชากรบนพื้นที่ราบ จำนวน 9 หมู่บ้าน ชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง จำนวน 3 หมู่บ้าน คือ หมู่ 4, 7 และหมู่ 11 และชนเผ่าปกาเกอญอ จำนวน 1 หมู่บ้านคือ หมู่ 8การเลือกตั้ง
เทศบาลตำบลแม่แรม ได้รับการเปลี่ยนแปลงฐานะเป็นเทศบาลตำบล เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ.2555 และได้มีการจัดการเลือกตั้งสมาชิสภาเทศบาล และนายกเทศมนตรี เมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ.2556 แบ่งเขตการเลือกตั้งออกเป็น 2 เขต มีจำนวนหน่วยเลือกตั้ง 13 หน่วย ประชากรผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง จำนวน 5,918 คน มีผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง จำนวน 4,394 คน คิดเป็นร้อยละ 74
ประชากร
ข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนประชากร
ประชากรตำบลแม่แรม มีทั้งหมด 3,397 ครัวเรือน แบ่งออกเป็น เพศชาย จำนวน 4,587 คน เพศหญิง จำนวน 4,778 คน รวมทั้งสิ้น 9,366 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 18 ตุลาคม 2559)
ช่วงอายุและจำนวนประชากร
จำนวนครัวเรือน และประชากรแยกชาย – หญิง
หมู่บ้าน | ครัวเรือน | ชาย | หญิง | รวม |
หมู่ที่ 1 บ้านทุ่งโป่ง | 796 | 674 | 736 | 1,410 |
หมู่ที่ 2 บ้านโฮ่งใน | 15 | 120 | 141 | 256 |
หมู่ที่ 3 บ้านปางแหว | 255 | 401 | 387 | 788 |
หมู่ที่ 4 บ้านปางไฮ | 213 | 446 | 487 | 933 |
หมู่ที่ 5 บ้านป่าม่วง | 714 | 556 | 617 | 1,173 |
หมู่ที่ 6 บ้านแม่แรม | 288 | 275 | 283 | 558 |
หมู่ที่ 7 บ้านหนองหอย | 272 | 621 | 647 | 1,268 |
หมู่ที่ 8 บ้านปางป่าคา | 209 | 355 | 411 | 766 |
หมู่ที่ 9 บ้านแม่แมะ | 172 | 183 | 173 | 356 |
หมู่ที่ 10 บ้านโฮ่งนอก | 157 | 166 | 161 | 327 |
หมู่ที่ 11 บ้านหนองหอยใหม่ | 230 | 717 | 729 | 1,446 |
หมู่ที่ 12 บ้านแม่ในพัฒนา | 232 | 207 | 201 | 408 |
รวม | 3,965 | 4,721 | 4,968 | 9,689 |
ข้อมูล ณ 2563
สภาพทางสังคม
การศึกษา
โรงเรียนประถมศึกษา จำนวน 3 แห่ง
โรงเรียนมัธยมศึกษา จำนวน 1 แห่ง
ศูนย์การเรียนชุมชน จำนวน 1 แห่ง
ที่อ่านหนังสือพิมพ์ประจำหมู่บ้าน จำนวน 12 แห่ง
ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จำนวน 4 แห่ง
สาธารณสุข
โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จำนวน 1 แห่ง
จำนวน อสม. จำนวน 163 คน
อาชญากรรม
เทศบาลตำบลแม่แรม มีการสอดส่องดูแลและป้องกันปัญหาอาชญากรรม โดยกลุ่มพลังแผ่นดินของแต่ละหมู่บ้าน และที่ผ่านมายังไม่มีปัญหาอาชญากรรมร้ายแรง แต่เนื่องจากเป็นทางผ่านไปสู่อำเภอสะเมิง และเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญ จึงมีการเตรียมความพร้อมและป้องกันอาชญากรรมอยู่อย่างสม่ำเสมอ
ยาเสพติด
ในเขตเทศบาลตำบลแม่แรม ยังพบว่ามีปัญหาการลักลอบเสพยา และลักลอบค้ายาเสพติดอยู่ และการแก้ไขปัญหาของเทศบาลสามารถทำได้เฉพาะตามอำนาจหน้าที่เท่านั้นเช่นการณรงค์ การประชาสัมพันธ์การแจ้งเบาะแสและการฝึกอบรมให้ความรู้ถ้านอกเหนือจากอำนาจหน้าที่ก็เป็นเรื่องของอำเภอหรือตำรวจแล้วแต่กรณี ทั้งนี้ เทศบาลก็ได้ให้ความร่วมมือมาโดยตลอด
การสังคมเคราะห์
เทศบาลได้ดำเนินการด้านสงคมสังเคราะห์ ดังนี้
๑) ดำเนินการจ่ายเบี้ยยังชีพให้กับผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ป่วยเอดส์
๒) รับลงทะเบียนและประสานโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด
๓) ประสานการทำบัตรผู้พิการ
๔) ตั้งโครงการการจ้างนักเรียน/นักศึกษาทำงานช่วงปิดภาคเรียน
๕) ตั้งโครงการช่วยเหลือผู้ยากจน ยากไร้ รายได้น้อย และผู้ด้อยโอกาสไร้ที่พึ่ง
ระบบบริการพื้นฐาน
การคมนาคมขนส่ง
การคมนาคมขนส่งภายในตำบลแม่แรม มีข้อมูลดังนี้
หมู่ที่ | ชื่อหมู่บ้าน | ประเภทผิวจราจร | ความยาวรวม/หมู่บ้าน (ม.) | หมายเหตุ | |||
ลูกรัง (ม.) | ลาดยาง (ม.) | คสล. (ม.) | หินคลุก (ม.) | ||||
1 | บ้านทุ่งโป่ง | 1,000 | 1,321 | 5,128 | - | 7,449 | |
2 | บ้านโฮ่งใน | 472 | 1,046 | 2,240 | - | 3,758 | |
3 | บ้านปางแหว | 238 | - | 538 | 216 | 992 | |
4 | บ้านปางไฮ | 811 | - | 1,532 | 90 | 2,433 | |
5 | บ้านป่าม่วง | 803 | 2,283 | 2,448 | - | 5,534 | |
6 | บ้านแม่แรม | 900 | 1,641 | 3,468 | 30 | 6,039 | |
7 | บ้านหนองหอย | 348 | 495 | 2,384 | 150 | 3,377 | |
8 | บ้านปางป่าคา | 97 | 302 | 1,319 | - | 1,718 | |
9 | บ้านแม่แมะ | 108 | - | 1,513 | - | 1,621 | |
10 | บ้านโฮ่งนอก | 312 | 582 | 2,005 | - | 2,899 | |
11 | บ้านหนองหอยใหม่ | 157 | 3,000 | 3,893 | - | 7,050 | |
12 | บ้านแม่ในพัฒนา | 875 | 1,314 | 1,616 | - | 3,805 | |
รวมความยาวของถนนตามประเภทผิวจราจร | 6,121 | 11,984 | 28,084 | 486 | 46,675 | ||
คิดเป็นร้อยละ | 13.10 | 25.70 | 60.16 | 1.04 | 100.00 |
การไฟฟ้า
เทศบาลตำบลแม่แรม มีไฟฟ้าครอบคลุมทุกหมู่บ้าน แต่ในบางหมู่บ้านยังไม่ครอบคลุมทั่วทั้งหมู่บ้าน
การประปา
ในพื้นที่เทศบาลแม่แรม ส่วนใหญ่จะมีระบบประปาหมู่บ้าน และประปาภูเขาครอบคลุมทุกหมู่บ้าน แต่ในบางหมู่บ้านยังไม่ครอบคลุมทั่วทั้งหมู่บ้าน
โทรศัพท์
ทุกหมู่บ้านในเขตเทศบาลตำบลแม่แรม มีความครอบคลุมของสัญญาณโทรศัพท์ทุกเครือข่าย และประชาชนส่วนใหญ่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่
ไปรษณีย์หรือการสื่อสารหรือการขนส่ง และวัสดุ ครุภัณฑ์
ที่ทำการไปรษณีย์แม่ริม อยู่ห่างจากเทศบาลตำบลแม่แรมประมาณ 4 กิโลเมตร
ระบบเศรษฐกิจ
การเกษตร
ตำบลมีพื้นที่ทำการเกษตรกรรม ร้อยละ17.27 ของพื้นที่ตำบล โดยมีพื้นที่ถือครองเพื่อการเกษตรเฉลี่ยครัวเรือนละ1-3ไร่ การถือครองที่ดินส่วนใหญ่จะเป็นของเกษตรกรรายใหญ่ เกษตรกรรายย่อยจะเช่าที่ดินทำกิน พื้นที่ส่วนใหญ่ของตำบลจะอยู่บนพื้นที่สูง ซึ่งเป็นเขตป่า เขตทหาร และเขตวนอุทยานดอยสุเทพ-ดอยปุย ส่วนพื้นที่ราบจะมีเพียงเล็กน้อย เกษตรกรจะไม่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน พืชที่ปลูกเป็นอาชีพหลัก ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วลิสง แครอท กะหล่ำปลี ไม้ดอกต่าง ๆ ส้มเขียวหวาน ลำไย ลิ้นจี่ มะม่วง
การประมง
ในเขตเทศบาลแม่แรม ไม่มีการประมงขนาดใหญ่ แต่มีเพียงการเลี้ยงปลาในบ้านของประชาชนเพียงบางบ้านเท่านั้น
การปศุสัตว์
ด้านการเลี้ยงสัตว์ ส่วนใหญ่จะเลี้ยงไว้บริโภคภายในครัวเรือนหากเหลือจึงจำหน่าย ซึ่งสัตว์ที่เกษตรกรนิยมเลี้ยงได้แก่ โคขุน กระบือ สุกร ไก่ และเป็ด และมีการเลี้ยงปลาเพื่อไว้บริโภคในครัวเรือนหากเหลือจึงจำหน่าย
การบริการ
- ปั๊มน้ำมัน 1 แห่ง
- โรงแรม และที่พัก 25 แห่ง
การท่องเที่ยว
ตำบลแม่แรม เป็นพื้นที่ที่มีแหล่งท่องเที่ยวมากมาย ทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เช่น น้ำตกแม่สา น้ำตกตาดหมอก ฯลฯ และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม เช่น หมู่บ้านชนเผ่าต่าง ๆ ในพื้นที่ ทั้งชนเผ่าม้ง ชนเผ่าปกาเกอะญอ เป็นต้น
อุตสาหกรรม
- ไม่มีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ภายในตำบลแม่แรม
การพาณิชย์และกลุ่มอาชีพ
- กลุ่มผลิตภัณฑ์แปรรูปผลผลิตทางการเกษตร บ้านโฮ่งนอก หมู่ที่ 10
แรงงาน
ประชากรประกอบอาชีพเกษตรกรรม ร้อยละ63 ของครัวเรือนทั้งหมด ที่เหลือจะประกอบอาชีพ รับจ้าง ค้าขาย และอื่น ๆแรงงานทางด้านการเกษตรเริ่มลดน้อยลงมีการจ้างแรงงานต่างถิ่นหรือแรงงานคนต่างด้าวเนื่องจากเยาวชนรุ่นใหม่จะไม่สนใจในการประกอบอาชีพทางการเกษตร
เศรษฐกิจพอเพียงท้องถิ่น (ด้านการเกษตรและแหล่งน้ำ)
ข้อมูลพื้นฐานของหมู่บ้านและชุมชน
ข้อมูลด้านเกษตร
ข้อมูลด้านแหล่งน้ำทางการเกษตร
ข้อมูลด้านแหล่งน้ำกิน น้ำใช้ (หรือน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค)
ศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม
การนับถือศาสนา
ประชาชนตำบลแม่แรม มีหลากหลายชนเผ่า ดังนั้นการนับถือศาสนา จึงแตกต่างกันไปในแต่ละชนเผ่า ชนพื้นเมืองส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาพุทธ โดยมีวัด/สำนักสงฆ์ จำนวน 10 แห่ง ชนเผ่าปกาเกอะญอและชนเผ่าม้งบางส่วน นับถือศาสนาคริสต์ มีโบสถ์ จำนวน 2 แห่ง ส่วนชนเผ่าม้งส่วนใหญ่ในตำบลแม่แรม นับถือผี
ประเพณีและงานประจำปี
ประเพณีและงานประจำปีที่น่าสนใจในตำบลแม่แรม คือ ประเพณีสรงน้ำพระธาตุชุ่มเมือง ซึ่งจะจัดขึ้นประมาณเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายนของทุกปี และประเพณีปีใหม่ม้ง ซึ่งจะจัดขึ้นประมาณเดือนธันวาคมหรือมกราคมของทุกปี
ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภาษาถิ่น
ภูมิปัญญาท้องถิ่นในตำบลแม่แรม คือ การจักสาน การทำการเกษตรปลอดสารพิษ การปักผ้าม้ง การทอผ้าของชนเผ่าปกาเกอะญอ และการทำอาหารและขนมพื้นเมืองของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น ขนมดอกจอก ข้าวปุก เป็นต้น
ภาษาถิ่นที่ใช้ในตำบลแม่แรม คือ ภาษาเหนือ ภาษาม้ง และภาษาปกาเกอะญอ
สินค้าพื้นเมืองและของที่ระลึก
ขนมดอกจอก สตอเบอรี่ ผ้าปักและผลิตภัณฑ์ของชนเผ่าม้ง ผ้าทอของชาวปกาเกอะญอ
ทรัพยากรธรรมชาติ
น้ำ
แหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญ ได้แก่ ห้วยแม่สา ห้วยแม่ลวด ห้วยเหมืองเจ้าพ่อ ลำน้ำแม่แรม ลำน้ำห้วยหลวง ลำน้ำจอยวอย ลำน้ำห้วยเขียด และลำห้วยหก
ป่าไม้
ตำบลแม่แรมมีพื้นที่ป่า แบ่งได้ดังนี้
1. เขตการใช้ประโยชน์ทรัพยากรและที่ดินป่าไม้ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ
- เขตพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ มีเนื้อที่ประมาณ 43,930 ไร่
- เขตป่าไม้เศรษฐกิจ มีเนื้อที่ประมาณ 10,988 ไร่ โดยเป็นพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม 9,833 ไร่
เขตพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติ (อุทยานแห่งชาติสุเทพ-ปุย) มีเนื้อที่ประมาณ 39,220 ไร่ โดยมีพื้นที่บางส่วนซ้อนทับกับเขตพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ และเขตป่าไม้เศรษฐกิจ
ภูเขา
ตำบลแม่แรม มีพื้นที่เนินเขา สูง ๆ ต่ำ ๆ จนถึงลอนลูกคลื่น พื้นที่ประมาณร้อยละ 5 อยู่ในความสูงต่ำกว่า 350 เมตร จากระดับน้ำทะเล บริเวณสูงสุดของอำเภอแม่ริม คือดอยคว่ำล่อง สูงจากระดับน้ำทะเล 1,459 เมตร ทางด้านตะวันตกของตำบลเป็นพื้นที่ภูเขา ทางด้านตะวันออกจะเป็นพื้นราบ เหมาะสมสำหรับการทำการเกษตร และเป็นที่อยู่อาศัย ตำบลแม่แรม มีเนื้อที่ประมาณ 110.5 ตารางกิโลเมตร หรือ 69,062.5 ไร่
คุณภาพของทรัพยากรธรรมชาติ
ตำบลแม่แรมมีพื้นที่ที่เป็นภูเขา และมีป่าไม้ค่อนข้างมาก ในเขตของอุทยานแห่งชาติและป่าสงวน มีทรัพยากรธรรมชาติค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ แต่พื้นที่นอกเหนือจากนี้ มีการถางป่าเพื่อทำไร่ทำสวน และเพื่อประกอบกิจการเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ทำให้ที่ผ่านมาพื้นที่ตำบลแม่แรมประสบกับปัญหาน้ำไม่เพียงพอต่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตรเป็นประจำทุกปี
สถิติการเข้าชมเริ่มวันที่ | วันนี้ | เมื่อวานนี้ | เดือนนี้ | เดือนก่อน | ปีนี้ | ปีก่อน | ทั้งหมด | ไอพี ของคุณ |
---|---|---|---|---|---|---|---|---|
05/10/2020 | 29 | 1566 | 4180 | 6049 | 33618 | 13743 | 79417 | 34.229.63.28 |